เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 17 กรกฎาคม 2564 มีรายงานว่าบริเวณหน้าศาลพระเจ้าตากสินมหาราช ริมถนนสายชายหาดปากซอย 6 พัทยา จ.ชลบุรี นายวันเฉลิม กุนเสน แกนนำประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการพัทยา ได้นัดหมายคนพัทยาที่รักประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ ร่วมขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์จัดเป็น “คาร์ม็อบแรลลี่”รอบเมืองพัทยา พร้อมปิดป้ายประกาศ โบกธง และบีบแตรไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ลงจากตำแหน่ง ทั้งนี้ก่อนการชุมนุมทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองพัทยา ทำการตั้งด่านป้องกันอาชญากรรม บริเวณถนนพัทยาสาย 2 และด่านกวดขันวินัยการจราจร บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 ถนนพัทยาเหนือ เพื่อทำการควบคุมและตรวจสอบประชาชนที่เดินทางใช้ถนนเส้นดังกล่าวเพื่อเป็นไปตามมาตรการควบคุมและป้องกันโรคติดต่อของภาครัฐ
.ต่อมา นายวันเฉลิม กุนเสน ได้กล่าวแถลงการณ์กับสื่อมวลชนว่า การรวมตัวกันครั้งนี้เป็นการดำเนินการพร้อมกันทั่วประเทศ เพื่อโจมตีการบริหารงานประเทศของรัฐบาลที่นำโดย พลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งทำให้บ้านเมืองเกิดวิกฤติอย่างหนัก ทั้งในสถานการณ์โรคโควิด-19 และปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งชัดเจนว่าเกิดจากการบริหารงานที่ผิดพลาด เป็นเหมือนรัฐบาลฆาตกรที่ทำให้ประชาชนนอกจากจะเจ็บป่วย เสียชีวิตจากโรคระบาดวันละกว่าร้อยคน ติดเชื้ออีกว่าหมื่นคนต่อวัน ยังมีการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายด้วยปัญหาเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเมืองพัทยาที่เป็นเมืองท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ดังนั้นเมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมาจึงมีการจัดคาร์ม็อบที่กรุงเทพ และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี.
ในวันนี้ประชาชนชาวเมืองพัทยา จึงได้ร่วมกับคณะไทยไม่ทน สามัคคีประชาชน เพื่อประเทศ จัดกิจกรรมคาร์ม็อบพัทยา ครั้งที่ 1 ขึ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับไล่ พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ออกจากตำแหน่ง ส่วนกรณีที่ว่าการกระทำดังกล่าวขัดต่อกฎหมายนั้น ในฐานะประชาชนขอรับฟังแต่ไม่ขอปฏิบัติตาม หากในวันนี้มีประชนแม้แต่คนเดียวโดนจับกุมดำเนินคดีการเคลื่อนไหวขับไล่จะไม่หยุดเพียงเท่านี้แน่นอน.
ต่อมา พ.ต.อ.ธนาวุฒิ จงจิระ รอง ผบก.ภ.จว.ชลบุรี รรท.ผกก.สภ.เมืองพัทยา ได้ตรึงกำลังเจ้าหน้าที่จำนวนหลายสิบนาย กระจายไปตามจุดต่างๆเพื่อความคุมความสงบเรียบร้อย ก่อนจะอ่านประกาศคำสั่งเพื่อไม่ให้มีการชุมนุมหรือรวมกลุ่มของผู้คนตามแนวทางของคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดชลบุรีที่ลงนามโดยนายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี โดยระบุว่าจังหวัดชลบุรีได้ประกาศให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด และพื้นที่เฝ้าระวัง ซึ่งกำหนดห้ามการชุมนุม การทำกิจการ ที่จะก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกี่ยวกับความมั่นคง (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 16 ก.ค.2564 ซึ่งผู้ที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามจะมีความผิดตามมาตรา 18 แห่ง พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงขอให้เลิกการชุมชน รวมการการจัดกิจกรรมภายใน 30 นาที
.อย่างไรก็ตาม หลังการชี้แจงจากทางเจ้าหน้าที่คณะของกลุ่มผู้ชุมชนแจ้งว่า การออกคำสั่งดังกล่าวขัดต่อกฎหมาย ดังนั้นในฐานะประชาชนขอรับฟังแต่ไม่ขอปฏิบัติตาม และหากมีประชาชนแม้แต่คนเดียวที่โดนจับกุมดำเนินคดีเรื่องการเคลื่อนไหวการขับไล่จะไม่หยุดเพียงเท่านี้แน่นอน จากนั้นได้ทำการแถลงการณ์หน้าพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชการ ก่อนจะทำพิธี “ทุบหม้อข้าว” ซึ่งมีภาพของ พลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยทิ้งลงกับพื้นจนแตกพร้อมเหยียบย่ำ ซึ่งการกระทำครั้งนี้แกนนำระบุว่า เป็นการทุบหม้อข้าวเพราะประชาชนทนไม่ไหวกับความอดอยากและจะขอลุกขึ้นต่อสู้ โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมส่งเสียงเชียร์และด่าทอรัฐบาลเป็นจำนวนมาก ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แต่เฝ้าควบคุมสถานการณ์เท่านั้น.
จากนั้นทางกลุ่มคณะผู้ชุมนุมได้เคลื่อนขบวนซึ่งมีทั้งรถ จยย. รถเครื่องเสียง และรถยนต์จำนวนมากวิ่งไปตามถนนเลียบชายหาดพัทยาไปยังถนนพัทยาใต้ ก่อนจะขับไปตามเส้นทางต่างๆ ทั่วเขตเมืองพัทยาโดยเว้นช่องการจราจรเพื่อไม่ให้กระทบกับการสัญจรไปมาของประชาชน หลังจากกิจกรรมคาร์ม็อบแรลลี่แล้วเสร็จ ทางคณะประชาชนเมืองพัทยาและคณะไทยไม่ทนจะจัดกิจกรรมแจกข้าวกล่องช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิดในเมืองพัทยา ที่บริเวณชายหาดเมืองพัทยาอีกด้วยในวันเดียวกันนี้