วันนี้ (3 มีนาคม 2565) เวลา 10.00 น. พลเรือเอก สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือเป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2565 บนเรือหลวงอ่างทอง ซึ่งจอดเทียบท่าบริเวณท่าเรือแหลมเทียน การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยมี พลเรือเอก ธีรกุล กาญจนะ รองผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะผู้อำนวยการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2565 ผู้บังคับบัญชาระดับสูง
ในกองอำนวยการฝึกฯ และผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพเรือ ให้การต้อนรับ โอกาสนี้ ผู้บัญชาการทหารเรือได้ชมการสาธิตการปฏิบัติการทางทหาร ประกอบด้วย การปฏิบัติการของกองกำลังทางเรือเฉพาะกิจปฏิบัติการระยะไกล (หมวดเรือปฏิบัติการยุทธสะเทินน้ำสะเทินบก) ขั้นควบคุมทะเลก่อนการยกพล (การยิงตอร์ปิโด MK46 จากเรือด้วย ลูกตอร์ปิโดฝึก REXTORP ) การปฏิบัติการพิเศษ (การแทรกซึมเข้าสู่ที่หมาย) การปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบกและ การปฏิบัติการของ หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ในการโจมตีเรือผิวน้ำ
โดยภายหลังเสร็จสิ้นการฝึก ผู้อำนวยการการฝึกกองทัพเรือประจำปี 2565 ได้เรียนเชิญผู้บัญชาการทหารเรือชมการแสดงผลงานวิจัย Static Display ที่พัฒนา วิจัย และต่อยอดโดยสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือร่วมกับหน่วยต่าง ๆ ของกองทัพเรือ โดยมีการจัดนิทรรศการแสดงผลการวิจัยที่น่าสน อาทิ โครงการวิจัยระบบอากาศยานไร้คนขับเพื่อการลาดตระเวนทางทะเล (Maritime Aerial Reconnaissance Craft Unmanned System – MARCUS Type A)
โครงการวิจัยอากาศยานไร-คนขับเพื่อการลาดตระเวนทางทะเลแบบที่ 2 (MARCUS-B : Maritime Aerial Reconnaisannce Craft Unmanned System Type B) โครงการวิจัย ระบบเฝ้าตรวจและรายงานเคลื่อนที่สำหรับ นรข.เขตหนองคาย
การฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2565 (การฝึก ทร.65) ในปีนี้ ทำการฝึกในขั้นสถานการณ์ปกติ – ความขัดแย้งระดับต่ำ เน้นกระบวนการจัดทำแผนจนได้คำสั่งยุทธการเพื่อใช้ในการฝึก นอกจากนี้ ยังมีการฝึกปฏิบัติด้านการรักษากฎหมายในทะเล รวมถึงการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลอีกด้วย
สำหรับการฝึกภาคสนาม/ภาคทะเล (FTX) เน้นการทดสอบกระบวนการวางแผนทางทหาร ทดสอบแนวทางการใช้กำลังของ กองทัพเรือ รวมถึงการทดสอบขีดความสามารถปฏิบัติการทางเรือสาขาต่าง ๆ โดยใช้โครงสร้างจริงของหน่วย
ทุกระดับกองทัพเรือ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวความคิดการจัดฝึก “รบอย่างไร ฝึกอย่างนั้น” โดยมีหัวข้อการฝึกที่สำคัญ อาทิ การป้องกันฐานทัพเรือและการควบคุมเรือ การปฏิบัติการข่าวสาร การส่งกำลังบำรุง การปฏิบัติการสงครามไซเบอร์และการบังคับใช้กฎหมายในทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฝึกที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการปฏิบัติงานของ ศรชล. เพื่อสร้างความชัดเจนในการปฏิบัติต่อหน่วยต่าง ๆ ที่เข้ามาสนธิกำลัง อาทิ แนวความคิดในการควบคุม เส้นทางเรือพาณิชย์ รวมทั้งจัดให้มีการฝึกหัวข้อปฏิบัติการเรือดำน้ำ สำหรับเตรียมการรองรับเรือดำน้ำที่จะเข้าประจำการ สำหรับการฝึกภาคสนาม/ภาคทะเล การฝึกภาคปฏิบัติของหน่วยกำลังรบและการสนับสนุนของหน่วยที่เกี่ยวข้อง มีหัวข้อการฝึกที่สำคัญคือ การฝึกยิงตอร์ปิโดแบบ MK46 จากเรือหลวงสุโขทัย ณ พื้นที่อ่าวไทย ในวันที่ 17 มีนาคม 2565 และการฝึกสนธิกำลังระหว่างหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินและหน่วยบัญชาการ
ต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งในการดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริงต่อเป้าเคลื่อนที่ได้ในทะเล บริเวณสนามยิงอาวุธทุ่งโปรง จังหวัดชลบุรี โดยใช้ศูนย์อำนวยการยิงร่วมกัน ซึ่งถือเป็นการฝึกครั้งแรกในระดับกองทัพเรือ
นอกจากนี้ ยังจัดให้มีการฝึกปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาสาธารณภัย (HADR) ด้วยกำลังทางเรือ ตามแนวทางการใช้กำลัง From The Sea ต่อด้วยการค้นหาและช่วยชีวิตในพื้นที่ การรบทางทะเล (Combat Sea SAR) โดยจะทำการฝึกในพื้นที่ เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2565โดยเชิญหน่วยที่เกี่ยวข้องและหน่วยราชการในพื้นที่ร่วมชมการสาธิตการฝึกปฏิบัติการ เพื่อเป็นการสร้างความรับรู้ ความเข้าใจในภารกิจการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล
ทั้งนี้ กองทัพเรือได้จัดกำลังพลจาก กองเรือยุทธการ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการต่อสู้
อากาศยานและรักษาฝั่ง ตลอดจนหน่วยต่างๆ ของกองทัพเรือ เข้าร่วมการฝึก โดยมียุทโธปกรณ์ที่สำคัญเข้าร่วมการฝึก อาทิ เรือหลวงจักรีนฤเบศร เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เรือหลวงสายบุรี เรือหลวงอ่างทอง เรือหลวงสุโขทัย เรือหลวงรัตนโกสินทร์ เรือหลวงตาปี เรือหลวงสงขลา เรือหลวงวังใน เรือตรวจการณ์ กำลังอากาศนาวี
ปืนใหญ่และปืนต่อสู้อากาศยานแบบต่างๆ รวมถึงอากาศยานจากกองทัพอากาศอีกจำนวนหนึ่ง
กองประชาสัมพันธ์
สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ