วันนี้ 7 เม.ย.65 เวลา 09.30 น. พลเรือเอก สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (รอง ผอ.ศรชล.) เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการบริหาร ศรชล. ครั้งที่ 2/2565 ณ ห้องประชุมกองบัญชาการกองทัพเรือ ชั้น 6 อาคารกองบัญชาการกองทัพเรือ (พื้นที่วังนันทอุทยาน) และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Zoom)
โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย พลเรือเอก เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะเลขาธิการ ศรชล. รวมถึงกรรมการบริหาร ศรชล. และหน่วยงานด้านความมั่นคงที่สำคัญคือ นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวสัดิการและคุ้มครองแรงงาน พลตำรวจโท สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านความปลอดภัย นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง นายพงศ์เทพ บัวทรัพย์ รองอธิบดีกรมศุลกากร นายอุกกฤต สตภูมินทร์ ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เข้าร่วมประชุมฯ
พลเรือตรี อิทธิพัทธ์ กวินเฟื่องฟูกุล โฆษก ศรชล. กล่าวว่า สำหรับการประชุมคณะกรรมการบริหาร ศรชล. ครั้งที่ 2/2565 ในวันนี้นับเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อน ศรชล. ตามพระราชบัญญัติการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พ.ศ.2562 มีหน้าที่ พิจารณา ให้ความเห็นหรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดทำแผนงาน โครงการ และงบประมาณ ให้คำปรึกษาในการ ปฏิบัติงานในหน้าที่และอำนาจของ ศรชล. รวมทั้งวางระเบียบและข้อบังคับที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงาน ด้านต่าง ๆ ของ ศรชล.
โดยมีสาระการประชุมที่สำคัญ สรุปได้ดังนี้
1.ความก้าวหน้าในการขอความเห็นชอบ ต่อ ครม. ในการจัดทำอัตรากำลังแทน ศรชล. ซึ่ง ศรชล. ได้ดำเนินการรวบรวมเรื่องในการขออนุมัติอัตรากำลังแทนจากหน่วยงานหลักของ ศรชล. เสนอต่อ ครม. เมื่อ 15 ก.พ.65 เพื่อพิจารณาอนุมัติกำหนดอัตรากำลังแทนของ 6 ส่วนราชการ รวม 855 อัตรา และต่อมาในวันที่ 5 เมษายน 2565 ครม. ได้พิจารณาและเห็นชอบในหลักการเรียบร้อยแล้ว โดยหลังจากนี้หน่วยงานต่าง ๆ ของ ศรชล.จะต้องดำเนินการตามแผนการบริหารจัดการกำลังพลของหน่วยเพื่อการบรรจุกำลังพลใน ศรชล. ต่อไป
2.การจัดกิจกรรมวันคล้ายวันสถาปนา ศรชล. เมื่อ 9 มีนาคม 2565 ระหว่างวันที่ 8 – 9 มีนาคม 2565 ณ วัดชิโนรสารามวรวิหาร มีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการระลึกถึงความสำคัญ และเกิดความภาคภูมิใจในการปฏิบัติภารกิจรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ให้มีความรัก ความสามัคคี ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อันจะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพ โดยมีจัดกิจกรรมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ “จิตอาสาเราทำความดี ด้วยหัวใจ” และกิจกรรมประกอบพิธีสงฆ์ เพิ่มความเป็นสิริมงคล รวมถึงเสริมสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน
3.การแถลงผลสัมฤทธิ์ต่อคณะกรรมาธิการการทหารและความมั่นคงของรัฐ วุฒิสภา ของ ศรชล. ที่ผ่านมา ประกอบด้วย
3.1 การขับเคลื่อนแนวทางพัฒนาการรักษาความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติทางทะเล โดยได้นำเสนอผลสัมฤทธิ์และผลการปฏิบัติงานที่สำคัญใน ห้วงปี พ.ศ. 2562 – 2564 ในด้านการคุ้มครองการใช้ประโยชน์จากทะเล ด้านการสร้างความสงบเรียบร้อย และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากทะเล รวมทั้งโครงการตามแนวทางพัฒนาการรักษาความมั่นคงและรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ดังนี้
3.1.1 โครงการจัดหาระบบวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data)
3.1.2 โครงการจัดหาระบบควบคุมการปฏิบัติและติดตามสถานการณ์ทางทะเล (C2)
3.1.3 โครงการจัดหาระบบวิเคราะห์ข้อมูลเรือ
3.1.4 โครงการจัดหาระบบฐานข้อมูลตำบลที่เรือที่ได้จากระบบรายงานตำบลที่เรืออัตโนมัติ (Automatic Identification System : AIS)
3.1.5 โครงการบูรณาการและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างหน่วยงานหลักของ ศรชล.
3.1.6 โครงการจัดทำแผนเผชิญเหตุของ ศรชล. ในด้านต่าง ๆ
3.1.7 โครงการพัฒนากลไกการประสานงานเพื่อสร้างเครือข่ายและความร่วมมือ
3.1.8 โครงการจัดตั้งศูนย์ควบคุมความมั่นคงท่าเรือจังหวัด PSCC (Port Security Control Centre)
3.1.9 โครงการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศแบบ ONE MARINE CHART
ศรชล. ได้ชี้แจงการดำเนินงานที่สำคัญของ ศรชล. ในห้วงปีงบประมาณ พ.ศ.2563 และปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ในการดำเนินการต่อภัยคุกคามทางทะเล ได้แก่ (1) การกระทำอันเป็นโจรสลัดและการปล้นเรือโดยใช้อาวุธ (2) การทำการประมงผิดกฎหมาย (3) การค้ามนุษย์ การลักลอบเข้าเมืองทางทะเล (4) การลักลอบขนยาเสพติด อาวุธ สินค้าต้องห้าม (5)การลักลอบค้า ลำเลียงสินค้า
สองวัตถุประสงค์ ตามมติข้อห้ามขององค์การสหประชาชาติ (6) เหตุการณ์ร้ายแรงทางทะเล (7) การก่อการร้ายทางทะเล (8) ภัยพิบัติ
ทางธรรมชาติ (9) การกระทำผิดกฎหมายที่เป็นภัยต่อระบบนิเวศทางทะเล (10) สถานการณ์อื่น ๆ ที่ ศรชล. กำหนด นำเสนอผลการดำเนินงานตามที่ได้รับมอบหมายสั่งการจากรัฐบาล ได้แก่ การดำเนินงานใน ศรชล. ในศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 (ศปก.ศบค.) การดำเนินการแก้ไขปัญหาจากกรณี อ่าวบ้านดอน จว.สุราษฎร์ธานี เป็นต้น
3.2 การโครงการพัฒนากลไกการบูรณาการความร่วมมือและการปฏิบัติกับทุกภาคส่วน ดังนี้
3.2.1 โครงการประสานความร่วมมือ ระหว่าง ศรชล. กับ กอ.รมน.
3.2.2 โครงการความร่วมมือการคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินทางทะเลระหว่าง สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กับ ศรชล.
3.2.3 โครงการหมายเลขโทรศัพท์สายด่วน ของ ศรชล. เลขหมายโทรศัพท์ 1465 เพื่อเป็นช่องทางการสื่อสารจากภาคประชาชน สำหรับรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน เหตุด่วนเหตุร้าย การช่วยชีวิตประชาชน ซึ่งมีพื้นที่ให้บริการครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ
4.ผลการปฏิบัติตามนโยบายการปฏิบัติงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ทั้งนี้ปัจจุบันในภาพรวมของการปฏิบัติตามนโยบายการปฏิบัติงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ของ ศรชล. ของทุกหน่วยงานใน ศรชล. เป็นไปตามเป้าหมายและตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ตามแผน
5.คณะกรรมการบริหาร ศรชล.เห็นชอบหลักสูตรพัฒนากำลังพล ศรชล. สำหรับข้าราชการบรรจุใหม่ และระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับสวัสดิการของกำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่ใน ศรชล.
6.ขอความร่วมมือให้หน่วยต่าง ๆ บูรณาการการปฏิบัติงาน เพื่อยกระดับการปฏิบัติงานในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
การแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมายฯ (IUU Fishing) และการปราบปรามการค้ามนุษย์ ให้ต่อเนื่องและเป็นมาตรฐาน เพื่อให้การรายงานสถานการณ์ด้านการค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ (TIP Report) ในภาคกิจกรรมทางทะเลของไทย จากระดับบัญชี 2 กลุ่มประเทศเฝ้าระวังหรือ Tier 2 Watch List เป็นระดับบัญชี 2 หรือ Tier 2
โดย โฆษก ศรชล. กล่าวว่า “ศรชล.ทุกนายมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ ด้วยความรัก ความสามัคคี ความวิริยะอุตสาหะ ด้วยสติรู้ตัว ปัญญารู้คิด เพื่อผลประโยชน์ทางทะเล แก่ประชาชน และประเทศชาติอย่างเต็มเปี่ยม”
นิราช ทิพย์ศรี /นันทพล ทิพย์ศรี อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี 0909535645,0945565622/086-3684323