หน้าแรก ข่าวประชาสัมพันธ์ ฝึกปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก ในการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2566

ฝึกปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก ในการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2566

267
0
แบ่งปัน

 วานนี้ (5 เมษายน 2566) เวลา 15.00 น. พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ พร้อมด้วยคณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพเรือ เดินทางไปตรวจเยี่ยมการสาธิตการฝึกปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก ณ สนามฝึกกองทัพเรือ หมายเลข 15 หาดยาว แสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี 

การฝึกปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกภาคสนาม/ภาคทะเลของการฝึกกองทัพเรือ 2566 โดยเป็นการฝึกในสถานการณ์ต่อเนื่องจากการฝึกยุทธวิธีร่วมของเรือในทะเล และการฝึกปฏิบัติการร่วมระหว่างเรือกับอากาศยาน ซึ่งในสถานการณ์การฝึกครั้งนี้ กำหนดให้มีการปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก ซึ่งเป็นการใช้การสั่งการปฏิบัติการโจมตีจากในทะเลต่อที่หมายสำคัญของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งอยู่บนฝั่งด้วยกำลังรบยกพลขึ้นบก สนับสนุนด้วยกำลังทางเรือประเภทต่าง ๆ อาทิ เรือรบ อากาศยาน ชุดปฏิบัติพิเศษ โดยมีกำลังจากหน่วยต่าง ๆ ของกองทัพเรือ คือ กองเรือยุทธการ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน หน่วยปฏิบัติการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ฐานทัพเรือสัตหีบ รวมทั้งเครื่องบินรบของกองทัพอากาศ เข้าร่วมในการฝึกครั้งนี้ด้วย ซึ่งกำลังรบสำคัญ ประกอบด้วย เรือรบ จำนวน 9 ลำ เครื่องบิน จำนวน 4 เครื่อง เฮลิคอปเตอร์ จำนวน 5 เครื่อง 

       สำหรับการสาธิตการฝึกการปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก ณ หาดยาว ในครั้งนี้ นอกจาก  ผู้บังคับบัญชากองทัพเรือ ที่เข้าร่วมรับชมการสาธิตแล้ว  ยังมีคณะและหน่วยงานต่างๆที่ กองทัพเรือ เชิญเข้าร่วมรับชมการสาธิตในครั้งนี้ประกอบไปด้วย คณะกรรมาธิการทหารวุฒิสภา  คณะนักเรียน/นักศึกษาหลักสูตรพัฒนาสัมพันธ์ระดับผู้บริหารกองทัพเรือ รุ่นที่ หลักสูตรเสนาธิการทหารเรือ และหลักสูตรวิทยาลัยการทัพเรือ กว่า 200 นาย ตลอดจนครอบครัวของกำลังพลของหน่วยต่างๆในกองทัพเรือที่เข้ารับการฝึก ประกอบไปด้วย กองเรือยุทธการ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน  หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง รวม 200 คน  รวมถึง ข้าราชการ นักเรียนและนักศึกษาในพื้นที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี  

     ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการฝึกกองทัพเรือประจำปี 2566 นั้น นอกจากกำลังพลที่เข้าร่วมการฝึกจะได้รับความรู้ ความชำนาญเพิ่มขึ้นจากการฝึกแล้ว ยังทำให้กองทัพเรือได้รับทราบถึงขีดความสามารถและข้อจำกัดของกำลังทางเรือที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งการปฏิบัติการร่วมกันกับเหล่าทัพ เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนพัฒนาขีดความสามารถสำหรับการปฏิบัติภารกิจ โดยเฉพาะในการป้องกันประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยขีดความสามารถของกำลังทางเรือที่เตรียมไว้สำหรับการทำสงคราม ยังสามารถนำมาใช้ในการรักษาผลประโยชน์ของชาติ การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยพิบัติต่าง ๆ ในยามปกติได้อีกด้วย