เมื่อเวลา 11.20 น. ของวันที่ 27 ก.ค.65 ที่สะพานปลาประมง วราสินธ์ ต.แสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอำนวยการความเป็นธรรมและเร่งรัดการปฎิบัติราชการ พร้อมด้วย นายณัฐพงศ์ วรรณพัฒน์ ประมงจังหวัดชลบุรี และผู้แทนจาก ด่านตรวจประมงจังหวัดชลบุรี หน่วยป้องกันและปราบปราม ประมงทะเล อ่างศิลา สำนักงานจัดหางานจังหวัดชลบุรี ตำรวจน้ำสัตหีบ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมรับฟังปัญหากลุ่มประมงแสมสาร โดยมี นายธนกร ถาวรชินโชติ นายกสมาคมประมงแสมสาร กล่าวต้อนรับและนำเสนอปัญหาของชาวประมง โดยมีพี่น้องประชาชน กลุ่มเรือประมง กว่า 50 คน เข้าเสนอปัญหาและรับฟังการการแก้ไขปัญหา
โดย นายธนกร ถาวรชินโชติ นายกสมาคมประมงแสมสาร ได้นำเสนอปัญหา ประเด็นคำสั่งกักเรือประมงที่ได้ร้องทุกข์ กล่าวโทษ ตามมาตรา 83 แห่ง พรก.การประมงฯ และไม่สามารถทำการประมงได้ , ปัญหาด้านแรงงานประมงที่รอขออนุญาตทำหนังสือคนประจำเรือตามมาตรา 83 แห่ง พรก.การประมง ฯ และตามร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฯ , การประกาศ ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำหรือนำสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดขึ้น เรือประมงตาม มาตรา 57แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเดิม
นายณัฐพงศ์ วรรณพัฒน์ ประมงจังหวัดชลบุรี ได้กล่าวว่า โดยปัจจุบันมีเรือประมงที่พนักงานเจ้าหน้าที่มีคำสั่งกักเรือ จำนวน 9 ลำ จนกว่าจะมีการพิจารณาทางอาญา และคำสั่งมาตรการปกครองแล้วเสร็จ โดยตามมติคณะอนุกรรมการตรวจสอบและติดตามการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการทำการประมงและแรงงานในภาคประมง ขณะนี้พนักงงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนแล้วมีความชัดเจนว่าเจ้าของเรือไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องรู้เห็น ไม่ได้มีเจตนากระทำผิด และพนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาในฐานะผู้ต้องหากับเจ้าของเรือ ขณะนี้กรมประมงพิจารณามาตรการปกครองยกเลิกการกักเรือเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยฝ่ายกฎหมายของกรมประมงอยู่ในระหว่างขั้นตอนการเสนออธิบดีกรมประมงเพื่อพิจารณาให้พนักงานเจ้าหน้าที่ยกเลิกคำสั่งกักเรือตามแนวทางมติคณะอนุกรรมการฯ อ.๒ ต่อไป
สำหรับปัญหาด้านแรงงานประมงที่รอขออนุญาตทำหนังสือคนประจำเรือ โดยกรมประมงได้จัดประชุมเตรียมความพร้อมเตรียมการดำเนินการตามร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การออกหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการประมง ซึ่งมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนสามารถดำเนินการได้ทันทีหลังที่ประกาศสำนักนายกฯ และที่เกี่ยวข้องมีผลใช้บังคับ ทั้งนี้กรมประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในเรือประมง ตามมติคณะรัฐมนตรีที่สำคัญ ดังนี้ มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งเข้ามาทำงาน MOU ซึ่งวาระการจ้างงานครบปี ในปี พ.ศ. 2565 โดยให้สามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานต่อไปอีกไม่เกิน ๒ ปี นับแต่วันที่การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเพื่อการทำงานเดิมสิ้นสุดลง และ มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 ให้ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนามที่มีสถานะไม่ถูกต้อง ยื่นขออนุญาตทำงานต่อกรมการจัดหางาน ให้สามารถอยู่และทำงานเป็นการชั่วคราวได้ไม่เกินวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 และหากประสงค์จะทำงานต่อไป ให้ยื่นขอต่อใบอนุญาตทำงานได้ไม่เกิน 13 กุมภาพันธ์ 2568 ทั้งนี้ ต้องดำเนินการตามประกาศกระทรวงมหาดไทยและประกาศกระทรวงแรงงานที่เกี่ยวข้อง โดยกลุ่มที่รับการตรวจลงตราหรือตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรฯ ภายในวันที่ 1สิงหาคม 2565 ขยายระยะเวลาการตรวจลงตรา VISA จนถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566
และการประกาศห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำหรือนำสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดขึ้นเรือประมงตาม มาตรา 57 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเดิม ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายลำดับรอง ที่ออกตามมาตรา 57แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม แต่อย่างใด โดยกรมประมงอยู่ในระหว่างศึกษาข้อมูล และรับฟังความเห็นกับผู้ทำการประมงในทุกประเภทที่มีส่วนได้เสีย ทั้งนี้ที่ผ่านมากรมประมงได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการจับสัตว์น้ำวัยอ่อน ที่สำคัญ เช่นการประกาศปิดอ่าว ในช่วงฤดูกาลสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัววัยอ่อน การกำหนดห้ามมิให้อวนล้อมจับที่มีขนาดตาอวนเล็กกว่า 25 เชนติเมตร ทำการประมงในเวลากลางคืน การกำหนดขนาดตาอวนกันถุงของเรืออวนลาก ไม่น้อยกว่า 4 เชนติเมตรการกำหนดขนาดตาอวนครอบหมึก ไม่น้อยกว่า 3.2เซนติเมตร การกำหนดขนาดตาอวนครอบปลากะตัก ไม่น้อยกว่า 0.6 เซนติเมตร การกำหนดตาอวนของลอบปู ไม่น้อยกว่า 2.5 นิ้ว
โดย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอำนวยการความเป็นธรรมและเร่งรัดการปฎิบัติราชการ กล่าวว่า วันนี้ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมรับฟังปัญหากลุ่มประมงแสมสาร หลัง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับทราบปัญหาของกลุ่มประมงในพื้นที่ จึงได้มอบหมายให้ผมลงมาติดตามและสอบถามปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปรายงาน เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของพี่น้องประชาวประมง ในพื้นที่ต่อไป ส่วนปัญหาต่างๆ ได้แก้ไขปัญหาไปแล้วร่วมกับ กรมประมง และกระทรวงแรงงาน สำหรับปัญหาที่ชาวประมงพึงเสนอมาจะได้กลับตรวจสอบและเสนอและหาทางแก้ไข ต่อไป