วันนี้ (10 มี.ค.66) ที่ โรงแรมดุสิตธานี พัทยา จ.ชลบุรี ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) จัดการประชุมคณะกรรมการบริหาร ศรชล. ครั้งที่ 1/2566 โดยมีพล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ และรอง ผอ.ศรชล. เป็นประธานเปิดการชุมประชุม พร้อมด้วย พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะเลขาธิการ ศรชล. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้แทนหน่วยงานหลัก 7 ศร ประกอบด้วย กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า กรมประมง กรมศุลกากร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กองบังคับการตํารวจน้ำ และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เข้าร่วมประชุม
สำหรับการประชุมในครั้งนี้เป็นการประชุมในรูปแบบสัญจรนัดแรกของปี 2566 ตามนโยบายผู้บังคับ บัญชา ศรชล. เริ่มต้นจากพื้นที่ ศรชล.ภาค 1 ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่อ่าวไทยตอนบน ครอบคลุมพื้นที่กว่า 1 แสน ตร.กม. ในเขต 11 จังหวัดชายทะเล ประกอบด้วย สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และ ชุมพร
โดยในที่ประชุมได้ร่วมหารือถึงแนวทางขับเคลื่อนงานร่วมกันของหน่วยงานหลักทั้ง 7 แห่ง ให้มีประสิทธิภาพ โดย ศรชล. ได้เสนอร่างแผนการรักษาความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ระยะ 5 ปี พ.ศ. 2566 – 2570 โดยมี 4 กลยุทธ์หลัก ประกอบด้วย 1 การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเกี่ยวกับการดำเนิน การด้านความมั่นคงทางทะเล มุ่งเน้นการบูรณาการด้านความมั่นคง กลยุทธ์ 2 การส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากทะเลอย่างสมดุลและยั่งยืนภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงิน มุ่งเน้นการบูรณาการด้านเศรษฐกิจ กลยุทธ์ 3 การบริหารจัดการองค์ความรู้ทางทะเล และการสร้างความตระหนักรู้ความสำคัญของทะเล มุ่งเน้นการบูรณาการหน่วยงานทางทะเล และกลยุทธ์ 4 การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมทางทะเล และด้านการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล มุ่งเน้นการบริการประชาชน ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบตามขั้นตอน
ทั้งนี้ในช่วงปลายเดือน เม.ย.66 ศรชล. จะเป็นเจ้าภาพร่วมกับ คณะที่ปรึกษาทางการทหารสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย (จัสแมกไทย) จัดการประชุมระดับผู้บังคับบัญชาตามกรอบความริเริ่มการบังคับใช้กฎหมายทางทะเลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 9 (9th SEAMLEI CF) เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงและปลอดภัยทางทะเลร่วมกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการหารือเกี่ยวกับประเด็นปัญหาความท้าทายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับหน่วยยามฝั่งและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ ศรชล. ได้พัฒนาความร่วมมือด้านความมั่นคงในระดับภูมิภาค ซึ่งจะสอดคล้องกับภารกิจ ศรชล. และแผนปฏิบัติราชการ 5 ปี ศรชล. (พ.ศ.2566 – 2570) ทั้งนี้สำหรับ ศรชล. เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ที่ได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาค เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศชาติและประชาชน