ซึ่งงานสงกรานต์ศรีมหาราชาและประเพณีกองข้าวศรีราชาได้ถือปฏิบัติสืบทอดกันมานับร้อยปี และเมื่อถึงเดือนเมษายนของทุกปีชาวศรีราชาซึ่งมีอาชีพประมงและทำการค้าได้ร่วมกันจัดงานประเพณีกองข้าวขึ้น โดยชาวบ้านพร้อมใจกัน จัดข้าวปลาอาหารคาว-หวาน มารับประทานร่วมกัน แต่ก่อนจะรับประทานอาหารจะมีการแบ่งอาหารส่วนหนึ่ง จัดเป็นสำรับเพื่อเป็นเครื่องสังเวยเซ่นไหว้โดยนำอาหารใส่ในกระทงแล้วจุดธูป กล่าวอัญเชิญผีสางเทวดา มารับเครื่องสังเวยเหล่านั้น พร้อมกับขอพรให้อยู่เย็นเป็นสุขทำมาค้าขายได้กำไรดีมีความเจริญก้าวหน้าในอาชีพแล้วจึงรับประทานอาหารร่วมกันและจัดให้มีการละเล่น การแสดงวัฒนธรรมพื้นบ้าน เพื่อให้เกิดความสนุกสนานเกิดความสมัครสมานสามัคคีสร้างสัมพันธไมตรีที่ดีต่อกันและเมื่อได้ปฏิบัติตามประเพณีแล้วก็จะเกิดกำลังใจในการประกอบอาชีพ หรือธุรกิจต่างๆ ทำให้ประชาชนชาวศรีราชาอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุขและเจริญก้าวหน้าขึ้นมาเป็นลำดับประชาชนชาวศรีราชา
มีความศรัทธายึดมั่นและสืบสานประเพณีกองข้าวมาโดยตลอดจวบจนปี 2556 กระทรวงวัฒนธรรมได้ประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติและงานประเพณีกองข้าวได้รับเกียรติบัตรประเภทประเพณีเกี่ยวกับการทำมาหากินรวมถึงเกียรติบัตรสาขากีฬาภูมิปัญญาไทยประเภทกีฬาพื้นบ้านมวยตับจากด้วย สำหรับกิจกรรมในการจัดงานครั้งนี้จัดให้มีการจำหน่ายขนมพื้นบ้านอาหารพื้นเมืองของชุมชนการแสดงของนักเรียนในสถาบันการศึกษาของชาวศรีราชาและพิธีกรรมกองข้าวบวงสรวงอีกด้วย