วันนี้ (5 มี.ค.) พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกกอง ทัพเรือ ประจำปี 2537 ณ สนามฝึกกองทัพเรือ หมายเลข 15 หาดยาว แสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยมีผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพเรือ และผู้บังคับบัญชาในกองอำนวยการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2567 ให้การต้อนรับ ในโอกาสนี้ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้มอบโอวาทให้กับกำลังพลที่เข้าร่วมการฝึก และร่วมชมการสาธิตการปฏิบัติการทางทหาร ซึ่งมีการประกอบกำลังจากหน่วยกำลังรบ และหน่วยสนับสนุนต่าง ๆ ในกองทัพ เรือมาเข้าร่วมการปฏิบัติการ เป็นการปฏิบัติการต่อต้านกำลังรบยกพลขึ้นบก กำลังปฏิบัติการพิเศษ และอาวุธจากเรือผิวน้ำและอากาศยาน นอกจากนั้น ยังมีการสาธิตการป้องกันพื้นที่สำคัญบนฝั่ง ด้วยกำลังต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งอีกด้วย
กองทัพเรือได้จัดให้มีการฝึกกองทัพเรือประจำปีมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อดำรงความพร้อมของหน่วยต่าง ๆ ในการปฏิบัติตามแผนป้องกันประเทศ โดยเป็นการฝึกในสถานการณ์ปกติจนถึงขั้นการป้องกันประเทศ สำหรับ การฝึกกองทัพเรือ ในปีนี้ จัดขึ้นระหว่าง 20 พ.ย.๖๖ – 1 ส.ค.๖๗ โดยมีกำลังทางเรือประเภทต่าง ๆ เข้าร่วมการฝึก ได้แก่ เรือผิวน้ำ จำนวน ๒๐ ลำ เครื่องบิน จำนวน ๔ เครื่อง เฮลิคอปเตอร์ จำนวน ๖ เครื่อง อากาศยานไร้คนขับ จำนวน ๒ ระบบ และกำลังพลจากหน่วยงานต่างๆของกองทัพเรือส่งกำลังพลเข้าร่วม 1,500 นาย มีพื้นที่การฝึกทั้งในทะเลและบนบก แบ่งการฝึกเป็น ๒ ส่วน คือ การฝึกปัญหาที่บังคับการ (Command Post Exercise: CPX) เพื่อฝึกการควบคุมบังคับบัญชา และทดสอบแนวความคิดในการใช้กำลังและหลักนิยมต่างๆ ของหน่วยบังคับบัญชาในระดับต่าง ๆ และการฝึกภาคสนาม/ภาคทะเล (Field Training Exercise: FTX) ที้เป็นการฝึกปฏิบัติจริงของหน่วยกำลังรบประเภทต่าง ๆ เพื่อสร้างความคุ้นเคยและประสบการณ์ให้กับกำลังพล รวมทั้งเป็นการทดสอบขีดความสามารถในการปฏิบัติการ อาทิ การคุ้มครองเส้นทางคมนาคมทางทะเล การโจมตีกำลังทางเรือของฝ่ายตรงข้าม การปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก และการป้องกันฝั่ง ซึ่งกำลังทางเรือต้องฝึกการปฏิบัติทางยุทธวิธีตามสาขาปฏิบัติการต่าง ๆ ได้แก่ การปราบเรือดำน้ำ การต่อต้านเรือผิวน้ำ การป้องกันภัยทางอากาศ การปฏิบัติการพิเศษ รวมทั้งปฏิบัติการข่าวสารและสงครามไซเบอร์ ทั้งนี้ จะมีการฝึกยิงอาวุธปล่อยนำวิถี พื้น – สู่ – อากาศ แบบ ESSM การฝึกยิงตอร์ปิโด การฝึกปฏิบัติการร่วมระหว่างเรือและอากาศยาน ซึ่งนอกจากอากาศยานของกองทัพเรือแล้ว กองทัพอากาศยังได้จัดส่งเครื่องบินขับไล่แบบ JAS-39 Gripen (บข.20) และเครื่องบินควบคุมและแจ้งเตือนภัยทางอากาศ SAAB 340 AEW (บ.ค.๑) เข้าร่วมในการฝึกการป้องกันภัยทางอากาศ
และการโจมตีเรือในทะเล นอกจากนั้นยังมีการฝึกปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก การยิงอาวุธประจำหน่วยและการฝึกดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริงของกำลังภาคพื้นดิน ทั้งกำลังจากหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง รวมทั้งกองทัพบกและกองทัพอากาศที่ได้จัดกำลังเข้าร่วมการฝึกในครั้งนี้ด้วย
โดยผลที่คาดว่าจะได้รับจากการฝึกกองทัพเรือนั้น นอกจากกำลังพลที่เข้าร่วมการฝึกจะได้รับความรู้ ความชำนาญเพิ่มขึ้นแล้ว ยังทำให้กองทัพเรือได้รับทราบถึงขีดความสามารถและข้อจำกัดของกำลังทางเรือที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งการปฏิบัติการร่วมกันกับ ศรชล. และเหล่าทัพ เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนพัฒนาขีดความสามารถสำหรับการปฏิบัติภารกิจ โดยเฉพาะในการป้องกันประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยขีดความสามารถของกำลังทางเรือที่เตรียมไว้สำหรับการทำสงคราม ยังสามารถนำมาใช้ในการรักษาผลประโยชน์ของชาติ การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยพิบัติต่าง ๆ ในยามปกติได้อีกด้วย