การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับการท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาระยอง-พัทยา
ต้อนรับเที่ยวบินปฐมฤกษ์ จำนวน 2 สายการบิน จากสายการบิน Scat Airlines เที่ยวบิน VSV5357 บินตรงจากกรุงอัลมาเตอ สาธารณรัฐคาซัคสถาน พร้อมด้วยผู้โดยสาร 219 ที่นั่ง เดินทางถึง และ สายการบิน Air Asia เที่ยวบิน AK840 บินตรงจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย พร้อมด้วยผู้โดยสาร 189 ที่นั่ง เดินทางถึง ณ ท่าอากาศยานนานาชาติ อู่ตะเภาระยอง-พัทยา โดยมี นายจีระวัฒน์ ลีนะกนิษฐ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมด้วย พล.ร.อ.สิทธิชัย ต่างใจ ผู้อำนวยการการท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาระยอง-พัทยา, นายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป อเมริกา ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ททท., นางสาวอุไร มุกประดับทอง ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานพัทยา, นายวัชรพล สารสอน ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานระยอง, นางสาวอโนมา วงษ์ใหญ่ ผู้อำนวยการกองตลาดยุโรป ททท., นายณัฐจิต อุ่นเสียม ผู้อำนวยการกองตลาดอาเซียน เอเชียใต้ และแปซิฟิกใต้ ททท., พ.ต.ท.ปิยะพงษ์ เอนสาร สวญ.ส.ทท.4 กก.2 บก.ทท.1 รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ ร่วมให้การต้อนรับ
โดยในโอกาสนี้ การท่าอากาศยายอู่ตะเภาฯ ททท. และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ อาทิ สถานีตำรวจท่องเที่ยว 4 กองกำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว 1 (พัทยา) ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสมาคมด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ ได้ร่วมต้อนรับและส่งมอบบรรยากาศแห่งความประทับใจทันทีที่เครื่องบินเดินทางถึงประเทศไทยด้วยอุโมงค์น้ำ (Water Salute) พร้อมมอบพวงมาลัยให้แก่นักท่องเที่ยว เพื่อแสดงมิตรไมตรีและสร้างความเชื่อมั่น พร้อมตอกย้ำให้พัทยาเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมในใจของนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นโอกาสที่ดีสำหรับประเทศไทยที่จะมีนักท่องเที่ยวจากทั้ง 2 ประเทศ เข้ามาเติมเต็มบรรยากาศการท่องเที่ยวช่วง Low Season ของประเทศไทยให้คึกคักมากยิ่งขึ้น
นายจีระวัฒน์ ลีนะกนิษฐ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ททท.ได้ดำเนินงานบูรณาการความร่วมมือทางการตลาดร่วมกับท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาระยอง-พัทยา โดยมีเป้าหมาย เพื่อเพิ่มจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศ ทั้งแบบตารางบินทั่วไป (Schedule Flight) และเช่าเหมาลำ (Charter Flight) จาก อินเดีย เวียดนาม จีน ฯลฯ มายังพัทยา รวมถึงการเพิ่มเที่ยวบิน ในประเทศ (Domestic Flight) จากภูมิภาคอื่น ๆ โดยนำเสนอสิทธิพิเศษให้กับเที่ยวบินพาณิชย์ที่สนใจจะทำการ
บิน ณ ท่าอากาศยานฯ เช่น ยกเว้นค่าลงจอด (Landing Fees) และส่วนลดค่าหลุมจอด (Parking Fees) เป็นต้น นับเป็นความสำเร็จภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน รวมทั้งบริษัท KOMPAS บริษัททัวร์รายใหญ่ ของสาธารณรัฐคาซัคสถาน และสายการบิน SCAT Airlines ในการเปิดเที่ยวบินตรงแบบเช่าเหมาลำ (Charter
Flight) เส้นทางกรุงอัลมาเตอ สาธารณรัฐคาซัคสถาน สู่ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาระยอง-พัทยา ด้วยเครื่อง Boeing 737-Max ความจุผู้โดยสาร 219 ที่นั่ง โดยเที่ยวบินในวันนี้นับเป็นเที่ยวบินปฐมฤกษ์ และในวันเดียวกันนี้ ยังมีเที่ยวบินแบบตารางบินทั่วไป (Schedule Flight) จากสายการบิน Air Asia บินตรงจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ด้วยเครื่อง Airbus A320 ความจุผู้โดยสาร 189 ที่นั่ง ตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2567 เป็นต้นไป ความถี่ 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ (จันทร์ ศุกร์ อาทิตย์) ซึ่ง ททท. สำนักงานกัวลาลัมเปอร์ ได้นำทีมผู้แทนบริษัทนำเที่ยวและสื่อมวลชนจากประเทศมาเลเซีย ร่วมเดินทางมาในเที่ยวบินดังกล่าว เพื่อประชาสัมพันธ์เส้นทางพร้อมทั้งอัพเดตสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวของพัทยา นำไปสู่การต่อยอดการขายต่อไป
ด้านนายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป อเมริกา ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ททท. เปิดเผยว่า สำหรับการขยายเส้นทางบินของสายการบิน SCAT Airlines ถือเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญในการส่งเสริมการเดินทางมายังประเทศไทยของกลุ่มนักท่องเที่ยวคาซัคสถาน ให้สามารถเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยในปี 2566 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศไทย จำนวน 172,282 คน และในปี 2567 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 30 เมษายน 2567 นักท่องเที่ยวคาซัคสถานเดินทางท่องเที่ยวประเทศไทยแล้วกว่า 95,789 คน ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้น จากปี 2566 ในช่วงเวลาเดียวกัน ร้อยละ 19.39 (นักท่องเที่ยวปี 2566 จำนวน 80,233 คน) ด้วยนโยบาย Free Visa ที่ขยายเวลาถึง 31 สิงหาคม 2567 ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวมาเลเซีย ในปี 2566 มีจำนวน 4,626,422 คน และในปี 2567 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 30 เมษายน 2567 เดินทางท่องเที่ยวมายังประเทศไทยแล้วกว่า 1,569,856 คน ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้น จากปี 2566 ในช่วงเวลาเดียวกัน ร้อยละ 15.64 (นักท่องเที่ยวปี 2566 จำนวน 1,357,576 คน)
ทั้งนี้ ททท. เชื่อมั่นว่า การเปิดเส้นทางบินตรงมายังพัทยาของสายการบิน SCAT Airlines และ Air Asia จะช่วยเพิ่มโอกาสในการขยายฐานตลาดนักท่องเที่ยวเอเชียกลางและอาเซียน เป็นการเพิ่มทางเลือกสำหรับนักท่องเที่ยวในการเดินทางเข้ามายังประเทศไทยมากยิ่งขึ้นอันจะส่งผลดีต่อการผลักดันเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2567