หน้าแรก ข่าวประชาสัมพันธ์ กองทัพเรือ ลำเลียงเรือผลักดันน้ำเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเล แก้ปัญหาน้ำท่วม กทม.

กองทัพเรือ ลำเลียงเรือผลักดันน้ำเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเล แก้ปัญหาน้ำท่วม กทม.

320
0
แบ่งปัน

พลเรือโท ปกครอง มนธาตุผลิน เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารเรือ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกิจการพลเรือน ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพเรือ พร้อมคณะ ให้การต้อนรับ พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร ในการเดินทางมาตรวจเยี่ยมการติดตั้งเรือผลักดันน้ำ ของกองทัพเรือ พร้อมรับฟังการบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำ บริเวณคลองลัดโพธิ์ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ
กองทัพเรือ โดยศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพเรือ สั่งการให้กรมอู่ทหารเรือ จัดชุดเฉพาะกิจผลักดันน้ำ อู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า สนับสนุนเรือผลักดันน้ำ จำนวน 12 ลำ พร้อมกำลังพล อุปกรณ์ และยุทโธปกรณ์ เพื่อปฏิบัติภารกิจผลักดันน้ำคลองลัดโพธิ์ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ เมื่อ 7 ต.ค.64 ที่ผ่านมา


จากแนวโน้มสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา จะมีปริมาณจากน้ำเหนือที่ไหลมาสูงขึ้น กอรปกับผลกระทบจากพายุที่จะเข้ามา กรุงเทพมหานคร ได้ร้องขอรับการสนับสนุนเรือผลักดันน้ำ จากกองทัพเรือ เพื่อเร่งระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่อ่าวไทยนั้น ฝ่ายกิจการพลเรือน ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพเรือ กรมอู่ทหารเรือ และกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมพิจารณาแล้ว กำหนดจุดวางเรือผลักดันน้ำ ที่จะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในการเร่งระบายน้ำสูงสุด คือบริเวณคลองลัดโพธิ์ จะสามารถระบายน้ำได้ 100,000 ลบ.ม./เครื่อง/วัน ซึ่งถ้าเดินเครื่องเต็มที่ในช่วงน้ำลงจะสามารถเร่งระบายน้ำได้ 1,200,000 ลบ.ม./วัน


โดยในช่วงเช้า เวลา 10.00 น. พลเรือตรี สุทธิศักดิ์ บุตรนาค รองผู้อำนวยการอู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า กรมอู่ทหารเรือ ในฐานะ หัวหน้าชุดเฉพาะกิจผลักดันน้ำ อู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า เป็นประธานในพิธีปล่อยขบวนลำเลียงเรือผลักดันน้ำ จำนวน 12 ลำ จากอู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า กรมอู่ทหารเรือ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ มาปฏิบัติภารกิจผลักดันน้ำที่คลองลัดโพธิ์
คลองลัดโพธิ์ เป็นชื่อคลองเดิม บริเวณตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เดิมมีลักษณะตื้นเขิน ต่อมาได้จัดสร้างเป็นโครงการตามแนวพระราชดำริ เป็นการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร โดยยึดหลักการ “เบี่ยงน้ำ” ภายใต้การดูแลของหน่วยงานหลัก 3 หน่วยงานคือ กรมชลประทานกรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีหลักการคือ จากสภาพของแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมที่มีลักษณะไหลวนคดเคี้ยวบริเวณรอบพื้นที่บริเวณบางกะเจ้านั้นมีความยาวถึง 18 กิโลเมตร นั้นทำให้การระบายน้ำที่ท่วมพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานครเป็นไปได้ช้า ไม่ทันเวลาน้ำทะเลหนุน พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงมีพระราชดำริให้พัฒนาใช้คลองลัดโพธิ์ ซึ่งเดิมมีความตื้นเขินมีความยาวราว 600 เมตร ให้ใช้ระบายน้ำที่หลากและน้ำที่ท่วมทางสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่ทะเลทันทีในช่วงก่อนที่น้ำทะเลหนุน และปิดคลองลัดโพธิ์เมื่อน้ำทะเลหนุน เพื่อหน่วงน้ำทะเลไม่ให้ขึ้นลัดเลาะไปตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยาที่คดโค้งถึง 18 กิโลเมตร ก่อนซึ่งใช้เวลามากจนถึงเวลาน้ำลง ทำให้ไม่สามารถขึ้นไปท่วมตัวเมืองได้


คลองลัดโพธิ์ เป็นคลองที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีกระแสพระราชดำรัสถึง เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ว่าเป็นสถานที่ตัวอย่างของการบริหารจัดการน้ำ ที่ต้องการความรู้เรื่องเกี่ยวกับเวลาน้ำขึ้นน้ำลง หากบริหารจัดการให้ถูกต้องจะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคไปทรงเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ และทรงเปิดสะพานภูมิพล 1 ภูมิพล 2 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553


กองทัพเรือ โดยศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพเรือ จัดตั้งชุดเฉพาะกิจผลักดันน้ำ เพื่อนำเรือผลักดันน้ำเข้ามาสนับสนุนการเร่งระบายน้ำท่วมขังในพื้นที่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย.64 เป็นต้นมา ซึ่งปัจจุบัน มีเรือผลักดันน้ำปฏิบัติภารกิจในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 26 ลำ แบ่งวางตามจุดต่างๆ จำนวน 6 จุด ได้แก่
จุดที่ 1 คลองลาดกระบัง ข้างแม็คโคร บางพลี จำนวน 3 เครื่อง
จุดที่ 2 คลองลาดกระบัง ข้าง บ.บางกอก แอร์เวย์ จำนวน 3 เครื่อง
จุดที่ 3 คลองขุด ถ.ตำหรุ – บางพลี ต.บางพลี จำนวน 4 เครื่อง
จุดที่ 4 สถานีอนามัยบางปลา คลองบางปลา จำนวน 6 เครื่อง
จุดที่ 5 สะพานกู้พารา คลองสำโรง ต.บางพลีใหญ่ จำนวน 4 เครื่อง
จุดที่ 6 สะพานวัดบางโฉลงนอก คลองสำโรง ต.บางโฉลง จำนวน 6 เครื่อง
ซึ่งรวมเรือผลักดันน้ำ ที่ปฏิบัติภารกิจผลักดันน้ำ ในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ รวม 38 ลำ


นิราช/นันทพล ทิพย์ศรี รายงาน