เมื่อวันที่ 24 ก.ย.63 พลเรือเอก สมชาย ณ บางช้าง. ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพเรือ ผู้แทน ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีวางพวงมาลา และบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายแด่จอมพลเรือสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เนื่องใน “วันมหิดล” โดยมีพลเรือโท วรวัฒน์ สุขชัย เจ้ากรมอู่ทหารเรือ พร้อมด้วยหน่วยขึ้นตรงกองทัพเรือ หน่วยงานราชการ และหน่วยงานภาคเอกชน ร่วมน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก “เจ้าฟ้าทหารเรือ” ที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทยและกองทัพเรือ ณ อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
สำหรับ “วันมหิดล” เป็นวันที่ จอมพลเรือ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เสด็จสวรรคตในวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472 ณ วังสระปทุม กรุงเทพมหานคร โดยพระองค์ท่านพระราชสมภพเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2435 ณ พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร เป็นพระบรมราชชนกในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระองค์มีคุณูปการแก่กิจการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของประเทศไทย ประชาชนโดยทั่วไปคุ้นเคยกับพระนามว่า “กรมหลวงสงขลานครินทร์” หรือ “พระราชบิดา” และบางครั้งก็ปรากฏพระนามว่า “เจ้าฟ้าทหารเรือ” และ “พระประทีปแห่งการอนุรักษ์สัตว์น้ำของไทย” ส่วนชาวต่างประเทศเรียกพระนามว่า “เจ้าฟ้ามหิดล”
ในช่วงเวลาที่สมเด็จพระบรมราชชนกทรงรับราชการในกองทัพเรือ ได้ทรงจัดทำโครงการเกี่ยวกับเรือดำน้ำ ถึงแม้จะไม่ได้ดังพระประสงค์ในช่วงเวลานั้น แต่อีก 20 ปีต่อมา กองทัพเรือก็ได้สั่งต่อเรือดำน้ำจำนวน 4 ลำ คือ เรือหลวงมัจฉาณุ เรือหลวงวิรุณ เรือหลวงสินสมุทร และเรือหลวงพลายชุมพล นอกจากเรื่องเรือดำน้ำ พระองค์ยังได้ทรงร่างโครงการสร้างกำลังทางเรือทั้งกองทัพไว้อีกด้วย ซึ่งปัจจุบันกองทัพเรือได้จัดตั้งฐานทัพเรือและสถานีทหารเรือ พร้อมกับจัดส่งกำลังทางเรือไปประจำตามฐานทัพเรือและสถานีเรือ สอดคล้องกับแนวพระราชดำริโครงการสร้างกองเรือรบ ด้านการแพทย์ตลอดระยะเวลา 10 ปี ที่ทรงเกี่ยวข้องกับการแพทย์ ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจไว้มากมาย ทรงอุทิศทั้งพระราชทรัพย์และพระวรกาย พระสติกำลังเพื่อการแพทย์โดยแท้ กล่าวคือพระราชทานทุนเพื่อการศึกษาและค้นคว้า นอกจากนี้ยังทรงมีน้ำพระราชหฤทัยเมตตา ช่วยเหลือการศึกษาด้านอื่นนอกเหนือจากการแพทย์ เป็นต้นว่า พระราชทานทุน 1 แสนบาทเพื่อส่งคนไปศึกษาต่างประเทศด้านการประมงและการเพาะเลี้ยงพันธุ์สัตว์น้ำ เพื่อการโภชนาการที่ดีของคนไทย จึงได้รับการถวายสมญานามว่า “พระประทีปแห่งการอนุรักษ์สัตว์น้ำของไทย