เจ้าท่าพัทยาลุยรื้อสิ่งปลูกสร้าง 18 รายรุกล้ำชายหาดบ้านอำเภอ ระบุไม่ละเว้นรวยจนหากพบกระทำผิดฝ่าฝืนกฎหมายพร้อมดำเนินคดีเด็ดขาด
วันนี้ (5 ธ.ค.) นายเอกราช คันธโร ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาพัทยา พร้อมด้วยนายปุณยรัตน์ ธนีรมย์ ผอ.กองช่างเทศบาลนาจอมเทียน สนธิกำลังเจ้าหน้าที่พร้อมอุปกรณ์และรถแบ็กโฮจำนวน 2 คัน ลงพื้นที่บริเวณชายหาดหมูที่ 4 ต.นาจอมเทียน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เพื่อเข้าดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างประเภทอาคารเพิงไม้รุกล้ำชายหาด ซึ่งมีการร้องเรียนจึงเข้าตรวจสอบโดยพบว่ามีอยู่จำนวนจำนวน 18 ราย ถือว่าเป็นความผิดตาม ม.117 ของ พ.ร.บ.เดินเรือในน่านน้ำไทย ปี 2560 จึงออกคำสั่งรื้อถอน และห้ามใช้อาคารตาม ม.118 ทวิ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
มีรายงานว่าจากการเข้าดำเนินการพบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือในการขนย้ายสิ่งของออกจากพื้นที่แต่โดยดี ทางเจ้าหน้าที่จึงเข้าดำเนินการสิ่งปลูกสร้างบนพื้นที่ชายหาด ซึ่งมีลักษณะเป็นเพิงไม้ที่ชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มประมงชายฝั่งที่จัดสร้างที่พักไว้สำหรับการเก็บรักษาอุปกรณ์การทำประมง และพักผ่อน โดยทางเจ้าหน้าที่ใช้เวลารื้อถอนคาดว่าประมาณ 6 ชม.จึงจะแล้วเสร็จ
นายเอกราช คันธโร ผอ.สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาพัทยา เปิดเผยว่าได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมเจ้าท่าให้ตรวจสอบปัญหาการรุกลล้ำชายหาดและทะเลทั่วประเทศ เนื่องจากพ้นระยะเวลาการขออนุญาตและผ่อนปรนตามคำสั่ง คสช.ไปแล้ว เนื่องจากยังพบว่ามีอีกจำนวนมากที่ยังดำเนินการฝ่าฝืนกฎ หมายโดยใช้ที่ดินและทะเลซึ่งเป็นที่สาธารณะประโยชน์ โดยในส่วนพื้นที่ของหมู่ที่ 4 ต.นาจอมเทียน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เจ้าหน้าที่ตรวจพบว่ามีการทำสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำชายหาดถึง 18 ราย ซึ่งพบว่าไม่มีหลักฐานกรรมสิทธิ์ที่ดิน หรือการขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงเข้าทำการชี้แจงและดำเนินการตามขั้น ตอนตามกฎหมาย ซึ่งเมื่อครบเวลาตามที่กำหนดจึงประสานความร่วมมือกับท้องถิ่นในการเข้ารื้อถอนในครั้งนี้
นายเอกราช กล่าวเพิ่มเติมว่าปัจจุบันมีกระแสมากมายที่ระบุว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐจะเน้นดำเนินการเพียงแต่ในส่วนของประชาชนที่ทำกินและยากไร้ ขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ยังไม่พบเห็นดำเนินการที่จริงจังและเป็นรูปธรรมนั้น กรณีดังกล่าวขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริงและดำเนินการอย่างเท่าเทียมกัน เพราะเมื่อตรวจพบมีผู้กระทำผิดที่ฝ่าฝืนกฎหมายทางเจ้าหน้าที่จะดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์และใช้มาตรการในการออกคำสั่งรื้อถอนอย่างเป็นรูปธรรมหากตรวจพบว่าไม่มีเอกสารสิทธิ์และการขออนุญาตอย่างถูกต้อง เพียงแต่ผู้ปะกอบธุรกิจส่วนใหญ่จะมีการร้องอุทธรณ์ต่อศาลปกครองจนอาจทำให้ล่าช้าไปบ้าง ซึ่งก็เป็นสิทธิ์ที่สามารถกระทำได้ อย่างไรก็ตามท้ายที่สุดเมื่อมีผลคำพิพากษายืนตามคำสั่งก็จะมีการเข้าดำเนินการทันที พร้อมมีโทษเปรียบเทียบปรับที่อัตราสูงและจำคุกตามกฎหมายใหม่ด้วย….