เมื่อเวลา 10.00 น. ของวันที่ 21 สิงหาคม 2565 ที่วัดรังษีสุทธาวาส (วัดไร่กล้วย) ตำบลสุรศักดิ์ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี พระครูมธุรสธรรมภาณ เจ้าอาวาสวัด รังษีสุทธาวาส (วัดไร่กล้วย) พร้อมคณะศิษย์ยานุศิษย์พระครูสุทธิคุณรังษี (หลวงพ่อทอง ปญฺญาทีโป) ที่ชาวบ้านไร่กล้วยหรือคนทั่วไปนิยมเรียกท่านว่า ” หลวงพ่อทอง ” อดีตเจ้าอาวาสวัดรังษีสุทธาวาส (วัดไร่กล้วย) จัดงานวันมรณภาพครบ 7 ปี พร้อมทั้งนำร่างของท่านออกจากโรงแก้วมาปิดทองทั้งองค์เปลี่ยนจีวร โดยมี ดร.ฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และประธานกรรมการบริหาร บริษัทในเครือฉวีวรรณ เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย นายขวัญเลิศ พานิชมาท เขตเลือกตั้งที่ 5 (อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี)นายเอกสิทธิ์ อ่ำฉอ้อน สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี เขต1 อำเภอศรีราชา นายไพบูลย์ เสริมศาสต์ นายกสมาคมสื่อมวลชนศรีราชา ศิษย์ยานุศิษย์จำนวนมาก เข้าร่วมปิดทองสรีระของหลวงพ่อทองในครั้งนี้
หลังจากนั้นได้นำสรีระสังขารที่ไม่เน่าเปื่อยหลวงพ่อทองที่นำมาปิดทองในครั้งนี้บรรจุในโลงไม้สัก ตั้งให้ประชาชนและลูกศิษย์ลูกหาที่เคารพนับถือได้กราบไหว้บูชา ขอพรกัน โดยตั้งไว้ที่ศาลาตั้งสรีระสังขาร ของหลวงปู่ทอง โดยหลวงพ่อทองนั้นได้มรณภาพมาแล้ว 7 ปี แต่สังขารไม่เน่าเปื่อย ทางญาติโยมได้นำร่างของท่านออกมาจากโลงแก้ว มาทำความสะอาดและเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนและลูกศิษย์ลูกหากราบมนัสการปิดทองสรีระสังขารของหลวงพ่อทอง เปลี่ยนจีวร อังสะ สบง ให้ใหม่ก่อนนำเข้าบรรจุโลงแก้วไม้สัก ซึ่งประชาชนทั่วไปที่สนใจสามารถไปกราบนมัสการขอพรสรีระสังขาร “หลวงปู่ทอง”ได้ที่วัดรังษีสุทธาวาส (วัดไร่กล้วย) ตำบลสุรศักดิ์ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ได้ทุกวัน
สำหรับพระครูสุทธิคุณรังษี “หลวงปู่ทอง ปญญาทีโป” เกิดเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2465 ปีจอ บิดาชื่อ นายสี ก้านบัว มารดาชื่อ นางไผ่ ก้านบัว ท่านเป็นชาวอำเภอพนัสนิคม ต.หนองปรือ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี มีพี่น้องร่วมบิดามารดาทั้งหมด 7 คน หลวงปู่เป็นบุตรคนที่ 4 ในช่วงชีวิตที่ท่านครองเพศฆราวาสนั้นได้ช่วยบิดา-มารดาประกอบสัมมาอาชีวะตามประสาสุจริตชนทั่วไป จากนั้นจึงได้เข้าสมัครรับราชการทหารเป็นเวลากว่า 2 ปี
ภายหลังที่ท่านใช้ชีวิตเยี่ยงฆราวาสมาอย่างโชกโชนแล้ว หลวงปู่ท่านจึงคิดจะบวชเพื่อแสวงหาสัจธรรมและตอนแทนพระคุณบุพการี ท่านจึงตัดสินใจเข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุในบวรพุทธศาสนา เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2489 ณ พัธสีมา วัดเนินสังข์สกฤษฏาราม ตำบลวัดหลวง อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี โดยมีพระอุปัชฌาย์ คือ พระครูเจียม วัดหลวงพรหมาวาส พระกรรมวาจาจารย์ คือพระมหาเที่ยง วัดกลางทุมมาวาส พระอนุสาวนาจารย์ คือพระอธิการเอียง วัดไร่หลักทอง ได้รับฉายาว่า “ปัญญาทีโป” แปลว่า ผู้มีปัญญาดุจแสงสว่างแห่งดวงประทีป